ปลานิล เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมา สามารถเลี้ยงได้ใน ทุกสภาพ การเพาะเลี้ยงในระยะเวลา 8 เดือนถึง 1 ปี สามารถเจริญเติบโตได้ถึงขนาด 500 กรัมเนื้อปลามีรสชาติดี
มีผู้นิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวาง ขนาดปลานิลที่ตลาดต้องการจะมีน้ำหนักตัวละ200-300 กรัม จากคุณสมบัติของปลานิลซึ่งเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว แต่ปัจจุบันปลานิลพันธุ์แท้ค่อนข้างหายาก
ดังนั้นกรมประมงจึงดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ปลานิลในด้านต่างๆ อาทิ เจริญเติบโตเร็ว ปริมาณความดกของไข่สูง ให้ผลผลิตและมีความต้านทานโรคสูงเป็นต้น เพื่อผู้เลี้ยงปลานิลจะได้มีความมั่นใจในการเลี้ยงปลานิลเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการบริโภคต่อไป

“รูปแบบการเลี้ยงปลานิลในบ่อ” กำจัดวัชพืชและพรรณไม้น้ำต่างๆ เช่น กก หญ้า และผักตบชวา ให้หมดโดยนำมากองสุมไว้เมื่อแห้งแล้วนำมาใช้เป็นปุ๋ยหมักในขณะที่ปล่อยปลาลงเลี้ยง ถ้าในบ่อเก่ามีเลนมากจำเป็นต้องสาดเลนขึ้นโดยนำไปเสริมคันดินที่ชำรุด หรือใช้เป็นปุ๋ยแก่พืชผัก ผลไม้ บริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งตกแต่งเชิงลาดและคันดิน ให้แน่นด้วย
การกำจัดศัตรูของปลาอาจใช้โล่ติ๊นสดหรือแห้ง ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อปริมาณน้ำในบ่อ100 ลูกบาศก์เมตร โดยทุบหรือบดโล่ติ๊นให้ละเอียดนำลงแช่น้ำประมาณ 1-2 ปิ๊บ ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้น้ำสีขาวออกมาหลายๆครั้งจนหมด นำไปสาดให้ทั่วบ่อศัตรูพวกปลาจะลอยหัวขึ้นมาภายหลังจากสาดโล่ติ๊นประมาณ30 นาที
ใช้สวิงจับขึ้นมาบริโภคได้ ปลาที่เหลือตายพื้นบ่อจะลอยในวันรุ่งขึ้น ส่วนศัตรูจำพวก กบ เขียด งูจะหนีออกจากบ่อไป และก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงควรทิ้งระยะไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊น สลายตัวไปหมดเสียก่อน

อัตราส่วนการใส่ปุ๋ยคอก
อัตราส่วนการใส่ปุ๋ยคอก ในระยะแรกควรใส่ประมาณ 250-300 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน ส่วนในระยะหลังควรลดลงเพียงครึ่งหนึ่ง หรือสังเกตสีของน้ำในบ่อ และในกรณีหาปุ๋ยคอกไม่ได้ก็อาจใช้ปุ๋ย
วิทยาศาสตร์สูตร 15:15:15 ใส่ประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อไร่ต่อเดือนก็ได้ วิธีใส่ปุ๋ยถ้าเป็นปุ๋ยคอกควรตากให้แห้งเสียก่อน เพราะปุ๋ยสดจะทำให้มีแก๊สจำพวกแอมโมเนียละลายอยู่ในน้ำมากเป็นอันตรายต่อปลา
การใส่ปุ๋ยคอกใช้วิธีหว่านลงไปในบ่อโดยละลายน้ำทั่วๆก่อน ส่วนปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยสดนั้น ควรกองสุมไว้ตามมุมบ่อ 2-3 แห่ง โดยมีไม้ปักล้อมเป็นคอกรอบกองปุ๋ยเพื่อป้องกันมิให้ส่วนที่ยังไม่สลายตัวกระจัดกระจาย

อัตราการปล่อยปลา
อัตราการปล่อยปลา จะปล่อยลูกปลาขนาด 3-5 เซนติเมตร ลงเลี้ยงในอัตรา 1-3 ตัวต่อตารางเมตร หรือ 2,000-5,000 ตัวต่อไร่
การให้อาหาร
การให้อาหาร การใส่ปุ๋ยเป็นการให้อาหารแก่ปลานิลที่สำคัญมากวิธีหนึ่ง เพราะจะได้อาหาร ธรรมชาติที่มีโปรตีนสูงและราคาถูก แต่เพื่อเป็นการเร่งให้ปลาที่เลี้ยงเจริญเติบโตเร็วขึ้นหรือถูกต้องตามหลัก วิชาการ
จึงควรให้อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรทเป็นอาหารสมทบด้วย เช่น รำ ปลายข้าว มีโปรตีนประมาณ 20% เศษอาหารที่เหลือจากโรงครัวหรือภัตตาคาร อาหารประเภทพืชผัก เช่น แหนเป็ด สาหร่าย ผักตบชวาสับให้ละเอียด เป็นต้น

“รูปแบบการเลี้ยงปลานิลในกระชังหรือคอก”
การเลี้ยงปลานิลโดยใช้แหล่งน้ำธรรมชาติทั้งบริเวณน้ำกร่อยและน้ำจืดที่มีคุณภาพน้ำดี สำหรับ กระชังส่วนใหญ่ที่ใช้กันโดยทั่วไปจะมีขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 25 เมตร ลึก 5 เมตร สามารถจะนำมาใช้ติดตั้งทั้ง 2 รูปแบบคือ
สร้างโดยใช้ไม้ไผ่ทั้งลำปักลงในแหล่งน้ำ ควรมีไม้ไผ่ผูกเป็น
แนวนอนหรือเสมอผิวน้ำที่ระดับประมาณ 1-2 เมตร เพื่อยึดลำไม้ไผ่ที่ปักลงในดินให้แน่น กระชังตอนบนและล่างควรร้อยเชือกคร่าวเพื่อให้ยึดตัวกระชังให้ขึงตึงโดยเฉพาะตรงมุม 4 มุมของกระชังทั้งด้านล่างและ ด้านบน
การวางกระชังก็ควรวางให้เป็นกลุ่มโดยเว้นระยะห่างกันให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก อวนที่ใช้ทำกระชังเป็น อวนไนลอนช่องตาแตกต่างกันตามขนาดของปลานิลที่จะเลี้ยง คือขนาดช่องตา 1-4 นิ้ว ขนาด 1-2 นิ้ว และอวนตาถี่

สำหรับเพาะเลี้ยงลูกปลาวัยอ่อน
กระชังแบบลอย ลักษณะของกระชังก็เหมือนกับกระชังโดยทั่วไปแต่ไม่ใช้เสาปักยึดอยู่กับที่ส่วนบนของกระชังผูกติดทุ่นลอยซึ่งใช้ไม้ไผ่หรือแท่งโฟม มุมทั้ง 4 ด้านล่าง ใช้แท่งปูนซีเมนต์หรือก้อนหินผูกกับเชือกคร่าวถ่วงให้กระชังจม ถ้าเลี้ยงปลาหลายกระชังก็ใช้เชือกผูกติดกันไว้เป็นกลุ่ม
อัตราส่วนของปลาที่เลี้ยงในกระชัง
อัตราส่วนของปลาที่เลี้ยงในกระชัง ปลานิลที่เลี้ยงในกระชังในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดีสามารถปล่อยปลาได้หนาแน่นคือ 40-100 ตัวต่อตารางเมตร โดยให้อาหารสมทบที่เหมาะสม เช่น ปลายข้าว หรือมันสำปะหลัง รำข้าว ปลาป่น และพืชผักต่างๆ โดยมีอัตราส่วนของโปรตีนประมาณ 20% การจัดจำหน่ายและการตลาด

ระยะเวลาการจับจำหน่ายไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับขนาดของปลานิลและความต้องการของตลาดโดยทั่วไปปลานิลที่ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อรุ่นเดียวกันก็จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี
จึงจะจับจำหน่ายเพราะปลานิลที่ได้จะมีน้ำหนักประมาณ 2-3 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการเกษตรกรที่จะเลี้ยงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนการตัดสินใจเลี้ยง
แหล่งที่มา : กรมประมง