ไอเดียแปลงผักอิฐบล็อค โครงหลังคา PVC “งบหลักพัน”

สวัสดีครับวันนี้เรามีไอเดียการทำแปลงผักระบบน็อคดาวน์ อิฐบล็อคกับท่อ PVC ซึ่งเป็นไอเดียจากคุณ Kan Waranon สมาชิกกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้ การทำปุ๋ยหมักวิศวกรรมแม่โจ้ ได้ทำการปรับสนามหญ้าข้างบ้านเป็นแปลงผักระบบน็อคดาวน์ อิฐบล็อคกับท่อ PVC เท่านั้น เน้นสะดวก ประหยัด และทัศนียภาพบ้าง

สำหรับรายการอุปกรณ์ การทำแปลงผักระบบน็อคดาวน์ อิฐบล็อคกับท่อ PVC 1 แปลง มีดังนี้

สิ่งที่ต้องเตรียม
1 อิฐบล็อค 22 ก้อน
2 ท่อ PVC 1″ (สีฟ้า)
3 หลักยาว โครงหลังคา 0.80 ม.x 10 ชิ้น
4 หลักหัวมุม 0.50 ม. × 4 ชิ้น
5 หลักสั้น 0.30 ม.×12 ชิ้น
6 ท่อ PVC 3/8″ (หรือ 3 หุน สีเทา)
7 โครงหลังคา 2.00 ม. x 5 ชิ้น

วิธีการทำ
1 นำอิฐบล็อคมาลองวางเรียงๆ บนพื้นสนามเฉยๆ ให้ได้แนว เทคนิคคือขึงเชือกหรือเอ็นไว้เล็งแนวก่อน โดยความห่างแต่ละก้อนประมาณให้ท่อ PVC 1″ แหย่ ตอกลงไปได้แบบแน่นๆ พอดี ถ้าห่างเกินไปจะหลวม ถ้าชิดเกินไปจะตอกท่อไม่ลง

2 ใช้ ท่อ PVC ตอกลงระหว่างบล็อค เพื่อตรึงไม่ให้บล็อคขยับ หรือไม่ให้ล้ม ตามลำดับการตอกดังนี้ ท่อยาว 0.8 ม.x 10 ชิ้นสำหรับโครงหลังคา ตอกให้ฝังลงไปในดินประมาณ 10 ซม.เพื่อรับแรงงัดของโดมหลังคา ท่อหัวมุม 0.5 ม.x 4 ชิ้น ตอกให้ฝังลงไปในดินประมาณ 20 ซม.เพื่อรับแรง ท่อสั้น 0.30 ม.x 12 ชิ้น ที่เหลือ ตอกระหว่างบล็อค แค่เสมอพื้นดินก็พอ

3 ท่อโครงหลังคา PVC 3/8″(3 หุน) ตัดยาว 2 เมตร x 5 ชิ้น ดัดโค้งกับมือยัดลงไปในรูเสาได้เลย ไม่ต้องยึดอะไรทั้งนั้น เพราะต้องการให้ถอดประกอบได้ ช่วงอากาศร้อนมาก ผักสลัดไม่ชอบร้อน ให้ประกอบกลับโดมหลังคา ติดตั้งพรางแสงช่วยลดอุณหภูมิสักหน่อย พรางแสง 40% สีเขียว กว้าง 2 เมตร ยาว 10 เมตร ราคาร้อยกว่าบาท หุ้มได้ 2 แปลง (แปลงยาว 3.2 เมตร)

ขั้นตอนการเตรียมแปลงปลูก
1 ถอดโครงหลังคาออก ให้ทำงานสะดวก ชั้นแรกปูพื้นด้วยเศษวัสดุอินทรีย์ กิ่งไม้ ท่อนไม้ ทางปาล์มประดับ เศษวัสดุที่ไม่ย่อยใน 2 เดือนจากกองปุ๋ยหมัก อจล. เลียนแบบหลักการเพอร์มาคัลเจอร์

ลดปัญหาในการกำจัดเศษวัสดุจากข้อมูลที่ได้ศึกษามา การย่อยเกิดตามธรรมชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ถูกเร่งกระบวนการแบบกองปุ๋ยที่มีการเติมมูลสัตว์ซึ่งมีจุลินทรีย์จำนวนมหาศาลทั้งปริมาณจุลินทรีย์โดยธรรมชาติและความร้อนที่เกิดจากกระบวนการย่อยสลายจึงไม่สูง ไม่ทำอันตรายต่อรากพืชครับ

2 ชั้นถัดขึ้นมา กาบมะพร้าวสับละเอียด จากมะพร้าวน้ำหอมที่กินบ่อยๆ เปลือกไม่เคยทิ้ง ปอกแล้วส่งเข้าเครื่องบดกิ่งไม้แหลกละเอียด เอาไว้ผสมดินหรือซุกไว้ใต้แปลงปลูก ทำให้ระบายน้ำได้ดี

3 ใช้วัสดุปลูกหนา 7 ซม. ผักสลัดรากตื้น ไม่ต้องเติมดินมากให้สิ้นเปลือง ส่วนผสมวัสดุปลูก ดิน 4 ส่วน(เลียนแบบศิษย์พี่ท่านนึง โดยการคราดหน้าดินมาจากโคนต้นไม้ที่ทับถมกันมานาน และดินใต้กองปุ๋ยเก่า) ปุ๋ย อจล. 1 ส่วน แบบไม่ร่อน แกลบดิบใหม่ 1 ส่วน

4 ชั้นสุดท้าย ห่มดินด้วยฟาง รักษาความชื้นหน้าดินลดการแผดเผาโดยแสงแดด เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ในดิน ตามหลักการ “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” ตามด้วยรดน้ำผสมชีวภัณฑ์กำจัดเชื้อโรคในดิน ไตรโคเดอร์มา ให้ทั่วทั้งแปลง เน้นรดช่วงเย็น ซ้ำประมาณ 3 วันต่อเนื่อง

Facebook Comments Box