ไอเดียกระท่อมไม้ไผ่ อยู่อย่างพอเพียง

ไม้ไผ่เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งนำมากินหน่อย ทำเป็นอาหาร หรือว่านำมาเป็นวัสดุไม้ก่อสร้าง ทำเป็นกระท่อม เถียงนาไม้ไผ่สวยๆ ไม้ไผ่นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังเป็นวัสดุที่คงทน

สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ยิ่งถ้าหากว่าเรามีความคิดที่สร้างสรรค์เข้าไป จากไม้ไผ่สามารถทำอะไรได้เยอะแยะมากกว่าที่คิดเลยทีเดียว

ล่าสุด ทางด้านเพจเฟสบุ๊ก ฟาร์มสุข ฟาร์มออร์แกนิก ก็ได้โพสต์ภาพของ “สวนลุงโชค” ที่มีวิธีคิดเกี่ยวกับไม้ไผ่ดีๆ ที่ไม่ใช่แค่การนำมากินหน่อหรือว่าทำค้างผัก โดยนำมาทำเป็นกระท่อมน้อยสุดน่าอยู่ และอีกหลายๆ อย่าง โดยทางเพจระบุว่า

วิธีคิด รูปภาพชุดนี้ถ่ายเมื่อปลายเดือนที่แล้ว​ แต่พึ่งจะมีเวลาลง​ “สวนลุงโชค” ทุกๆครั้งที่เข้าไป​ ได้มีโอกาสฟังเรื่องราวต่างๆ​ ที่ลุงได้ทำ​ ไม่ใช่ตามกระแส​ แต่ทุกอย่างล้วนแล้วมาจาก​ “วิธีคิด” เมื่อ​ วิธีคิดชัด​ วิธีปฏิบัติย่อมชัดตามไปด้วย​ เป็นคำพูดที่ผมจำมาทุกวันนี้​ “ไผ่ไม่ใช่แค่กินหน่อหรือทำค้างผัก”

คุณโชคดี ปรโลกานนท์ หรือ ลุงโชค เจ้าของสวนลุงโชค อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 6 บ้านคลองทุนเรียน ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ทำสวนแบบวนเกษตร โดยเน้นการปลูกพืชพรรณหลายชนิดรวมกันในพื้นที่กว่า 100 ไร่ นอกจากนี้ ยังชื่นชอบและเพาะพันธุ์ไผ่หลากหลายสายพันธุ์อีกด้วย

คงต้องเกริ่นก่อนว่าการทำสวนแบบวนเกษตรคือ แนวทางการทำเกษตรอย่างยั่งยืนที่เน้นการปลูกไม้ยืนต้นที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้เป็นหลักร่วมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจและพืชผักสวนครัว การทำสวนในลักษณะผสมผสาน หรือการทำเกษตรที่มีลักษณะคล้ายกับเลียนแบบระบบนิเวศของธรรมชาตินั่นเอง

ลุงโชค เล่าถึงการเริ่มทำสวนให้ฟังว่า ก่อนที่จะหันมาทำการเกษตรแบบยั่งยืน หรือวนเกษตรนั้น เริ่มต้นจากการนำความรู้ที่ได้เรียนมาจากสาขาวิชาพืชไร่ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยเน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจ

อาทิ ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งเริ่มแรกก็เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่หลังจากทำมาระยะหนึ่งก็พบว่าหากยังทำสวนโดยปลูกเพียงแต่พืชเศรษฐกิจอย่างเดียวคงยังไม่พอ

เนื่องจากประสบปัญหาทั้งในเรื่องการลงทุน และเรื่องของระบบชลประทาน คล้ายกับเป็นการทำการเกษตรที่ต้องพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศเพียงอย่างเดียว และยังมองว่าการทำสวนในลักษณะนี้จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

จึงเริ่มหันมาสนใจเรื่องการทำวนเกษตร เมื่อเข้าสู่ปี 2531 ลุงโชค บอกว่า เริ่มทำสวนแบบวนเกษตรโดยเน้นปลูกต้นไม้เป็นหลัก แต่ก็ปลูกพวกพืชผักสวนครัวเอาไว้สำหรับกินเองด้วย ส่วนที่เหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายได้

“ตอนนั้นมีที่แค่ 50 ไร่ แต่เราไม่ได้ปลูกทั้งแปลงแต่อาศัยปลูกปนกัน ผสมผสานกันไป เริ่มทำจากเล็กๆ ก่อน เพื่อให้ได้ประสบการณ์ เรื่องการลดต้นทุนและการขยายพันธุ์ไม้ด้วย ยอมรับว่าตอนนั้นเปลี่ยนวิธีคิดไปเลย

จากที่เมื่อก่อนเราปลูกเพื่อขาย ตอนหลังเราปลูกเพื่อกินแทนแล้วพอเหลือจากกินก็เอาไปขายได้ หลังจากเริ่มทำก็ใช้เวลา 6-7 ปี ทุกอย่างก็ลงตัว ต่อมาก็เริ่มมีรายได้จากการขายผลผลิต ซึ่งรายได้ที่มีก็มาจากทั้งการขายผลผลิตและการขายพันธุ์พืช” ลุงโชค กล่าว

สำหรับจุดเริ่มต้นในการหันมาปลูกไผ่นั้น เริ่มในปี 2543 เนื่องจากในสวนจะมีบริเวณหนึ่งที่โครงสร้างดินไม่ค่อยดี ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ประกอบกับตอนนั้นคุณตาของลุงโชค มีไผ่เลี้ยงอยู่กอหนึ่งที่เขาปลูกเอาไว้

จึงขอเอามาลงดินปลูกดูเผื่อว่ามันจะขึ้น ปรากฏว่าปลูกขึ้น ทำให้สนใจการปลูกไผ่ขึ้นมา และเริ่มสะสมไผ่สายพันธุ์ต่างๆ มาเรื่อย จนกลายมาเป็นอาณาจักรไผ่สวนลุงโชคอย่างทุกวันนี้

“ระหว่างที่ทำสวนวนเกษตรตอนนั้นยังมีหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และฟื้นฟูป่าที่เขาแผงม้า ทำให้ต้องแบ่งเวลาทั้งในการปฏิบัติหน้าที่และการทำสวน แต่ก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องการทำสวนเสียทีเดียว พอถึงปี 2550 บทบาทหน้าที่ในการฟื้นฟูป่าสิ้นสุดลง จึงกลับมาทุ่มเทให้กับการทำสวนที่ตนเองรักอย่างเต็มที่อีกครั้ง

และยังเริ่มเปิดสวนให้คนเข้าเยี่ยมชม และให้ความรู้เกี่ยวกับการทำสวนด้วย ต้นไม้ที่ปลูกก็เป็นพวกไม้ยืนต้น เช่น พะยูง ตะเคียนทอง เพราะคิดว่าต่อไปพันธุ์ไม้พวกนี้จะหายากก็เลยปลูกไว้ ส่วนหลักในการเลือกปลูกต้นไม้ส่วนใหญ่มักจะคำถึงถึงเรื่องของถิ่นดั้งเดิมด้วย ทำให้มีพันธุ์ไม้ที่ปลูกกว่า 300 ชนิด” ลุงโชค กล่าว

นอกจากการเพาะพันธุ์ไผ่แล้วสิ่งที่ลุงโชคกำลังให้ความสำคัญคือ เรื่องการแปรรูปและการใช้ประโยชน์จากไผ่ “โดยตอนนี้ก็ได้นำไผ่เลี้ยงมาจัดการตัด เจาะ แล้วก็แช่ด้วยเกลือบอแรกซ์ เพื่อให้อาหารที่อยู่ในไผ่เหลือน้อย พอเหลือน้อยมอดก็ไม่กิน

ผลตอนนี้ก็ออกมาดี ส่วนสูตรก็ใช้ 10 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร แช่ประมาณ 7 วัน และกำลังจะทำในเรื่องถ่านชีวภาพ หรือไบโอชาร์ด้วย เพื่อให้สามารถนำผลผลิตที่มีไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ได้” ลุงโชค บอก

“ไผ่” ประโยชน์ที่มี มากกว่าความอร่อย ประโยชน์ของไผ่นอกจากจะสามารถนำหน่อมาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหารได้หลากหลายเมนูแล้ว ไผ่ยังมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีพอีกด้วย เพราะใบของไผ่เมื่อร่วงลงมาก็เหมือนเป็นการสร้างหน้าดิน ส่วนรากก็ยังเป็นตัวยึดหน้าดินในช่วงฤดูฝน

ทั้งยังสามารถช่วยป้องกันพายุฤดูร้อนได้ สำหรับสวนของลุงโชคนั้น ก็มีนวัตกรรมในเรื่องการเพาะเห็ดเยื่อไผ่เสริมเข้ามา ดังนั้น หากมีโอกาสได้มาเยี่ยมชมสวนลุงโชคก็จะเห็นว่าตามโคนไผ่ตอนนี้จะมีการเพาะเห็ดเยื่อไผ่เสริมอยู่ด้วย

“ผมคิดว่าไผ่ให้คำตอบได้ทุกเรื่อง อย่างปัญหาเรื่องเขาหัวโล้นก็เชื่อว่าไผ่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ แต่เราอย่าไปปลูกไผ่อย่างเดียว คือปลูกให้มันหลากหลาย คือผมมีทั้งไผ่ล้วนๆ ไผ่ในป่า ไผ่ตามคันนา ไผ่ตามคลอง ผมปลูกให้เห็นว่ามันสามารถช่วยแก้ปัญหาได้จริงๆ”

ผู้สนใจเรื่องการปลูกไผ่ เห็ดเยื่อไผ่ ธนาคารพันธุ์ไผ่ รวมทั้งการแปรรูปอื่นๆ ถามได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ (091) 876-8199 หรือผ่านทางเฟซบุ๊ก “สวนลุงโชค”ต้องบอกเลยว่า ถ้าหากว่าเรามีความคิดสร้างสรรค์กับวัสดุอย่างไม้ไผ่

ที่ดูเหมือนว่าจะทำอะไรไม่ได้มากมาย มันจะกลายเป็นไม้ที่ล้ำค่าและมีประโยชน์ เพิ่มมูลค่าได้เป็นอย่างมาก ฉะนั้นไม้ไผ่ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการนำมาทำหลายอย่างๆ ที่คุณต้องการได้ ไม่แพ้ไม้ชนิดอื่นๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก : เทคโนโลยีชาวบ้าน, Kaijeaw

Facebook Comments Box