เกษตรน่ารู้

เลี้ยงปลากะพงขาวผสมปลานิล ประโยชน์ 3 เด้ง พารวย

กลับมาพบเจอกันอีกแล้ว ก่อนอื่นแอดมินและทีมงานเพจแบบบ้านเกษตรกับธรรมะ ก็ขอขอบคุณที่ท่านผู้อ่านยังคงติดตามผลงานของเรามาตลอด เราจะคอยสรรหานำเสนอเรื่องราวดีๆ ให้ความใจโลงใจและมีประโยชน์แก่แฟนเพจทั้งหลายให้ท่านได้อ่านเรื่อยๆนะคะ ก่อนที่เราจะไปอ่านเรื่องราวในวันนี้ แอดมินและทางทีมงานขออวยพรให้ท่านแฟนเพจมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีแต่สิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตด้วยนะคะ

นายประมุข ฤๅแก้วมา นักวิชาการประมงชำนาญการ ซึ่งดูแลงานด้านการประมงของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ได้ถ่ายทอดความรู้ ด้านการเลี้ยงปลาภายในศูนย์โดยการนำปลากะพงขาวมาเลี้ยงร่วมกับปลานิลแบบผสมผสานในบ่อเดียวกัน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้ทำการศึกษาวิธีการเลี้ยงปลาในบ่อรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ภาคอีสานมากกว่า 10 ชนิดปลา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มปลากินพืช และล่าสุดได้ทำการศึกษาทดลองเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวแบบในบ่อเดียวกับปลานิล เพื่อหาแนวทางว่าจะสามารถเพาะเลี้ยงในสภาพพื้นที่ของภาคอีสานได้หรือไม่ และเนื่องจากปลากะพงขาวเป็นปลาน้ำกร่อยขนาดใหญ่เจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อยและน้ำจืด เป็นปลาประเภท 2 น้ำ

คือในช่วงชีวิตของปลากะพงขาวจะมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยที่ปลากะพงขาวขนาดใหญ่จะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไม่ห่างไกลออกไปจากฝั่งมากนักสำหรับประเทศไทยพบได้ตามชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำใหญ่ ๆ ที่มีทางออกติดต่อกับทะเลที่มีป่าชายเลนขึ้นปกคลุมแถบจังหวัดตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทร ปราการ สมุทรสงคราม เป็นต้น

ปลากะพงขาวจะผสมพันธุ์และวางไข่ในน้ำทะเลที่มีความเค็มประมาณ 28-32 ppt ที่ความลึกพอประมาณ หลังจากนั้นไข่จะถูกพัดพาเข้าสู่บริเวณชายฝั่งและฟักออกเป็นตัว ลูกปลาจะหากินในน้ำกร่อยและในน้ำจืดจนมีอายุได้ 2-3 ปีซึ่งระยะนี้จะมีขนาดตัวและน้ำหนักที่ 3-5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดมีความต้องการ จากนั้นจะออกสู่ทะเลเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป และในธรรมชาติปลากะพงขาวจะกินอาหารจำพวกลูกกุ้ง ลูกปลาขนาดเล็กที่พอดีกับปาก โดยวิธีการฮุบอาหารบนผิวน้ำ

ศูนย์ฯ ได้ศึกษาว่าหากเอามาเลี้ยงคู่กันในแหล่งเลี้ยงเดียวกับปลานิลจะได้หรือไม่ เพราะปลานิล โดยทั่วไปในพื้นที่ภาคอีสานมักจะเจอกับปัญหาลูกปลาในบ่อเกิดมาเยอะ ซึ่งจะต้องควบคุมเพราะหากมีปริมาณที่มากการแย่งชิงอาหารก็จะเกิดขึ้น เป็นผลต่อการเจริญเติบโตของปลาทำให้ได้ราคาต่ำ จึงมีแนวคิดว่าหากเอาปลานักล่าอย่างกะพงขาวซึ่งกินลูกปลาตัวเล็กเพียงเท่านั้นมาเลี้ยงด้วยกันจะได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการบริหารจัดการลูกปลานิล และก็ได้ปลากะพงมาแทนการที่ต้องจับลูกปลาไปทำลาย ซึ่งพบว่าปลากะพง สามารถควบคุมลูกปลานิลได้ดี ควบคู่กับการเจริญเติบโตของปลากะพงก็ค่อนข้างจะดีตามที่ต้องการด้วย

ขั้นต้นต้องเลี้ยงปลานิลก่อนจนปลานิลออกลูก หลังจากลูกปลานิลโตพอสมควร ก็นำปลากะพงลงเลี้ยงคู่กัน ในอัตราประมาณ 50 ตัว ต่อไร่ ขณะที่ปลานิลในบ่ออยู่ที่ประมาณ 4,000 ตัว เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการบริหารจัดการการเพาะเลี้ยงปลานิลแบบธรรมชาติบริหารจัดการกันเอง และผู้เลี้ยงก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจับปลากะพงไปจำหน่ายพร้อม ๆ กับการจับปลานิลขึ้นจำหน่าย และเป็นการกำจัดพันธุ์ปลานิลขนาดเล็กที่อ่อนแอออกไปจากวงจรการเพาะเลี้ยงปลานิล ซึ่งลูกปลานิลส่วนนี้จะเป็นอาหารของปลากะพงเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ลูกปลานิลตัวที่แข็งแรงจะสามารถว่ายหนีปลากะพงได้

ที่สำคัญการเลี้ยงแบบผสมผสานแบบนี้นั้นน่าจะดีกับเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีบ่อปลาอยู่แล้ว และมีผลผลิตจากบ่อเลี้ยงถึง 2 ชนิดปลา ซึ่งเป็นปลาที่มีราคาและเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน นับเป็นการได้รับประโยชน์ถึง 3 ต่อ สำหรับการเพาะเลี้ยงปลาในครั้งเดียว.

Facebook Comments Box
สวัสดี