น่าอ่าน

เคล็ดไม่ลับปลูกผักหวานให้รอดทุกต้น

อย่างที่ทราบกันทั่วไปว่าการปลูกผักหวานป่า ในช่วง 1-2 ปีแรกหรือในช่วงที่ต้นยังเล็กต้องปลูกโดยมีไม้ร่มเงา แต่หลายคนไปติดกับดักคำว่า “ไม้ร่มเงา” ที่ไม่ได้หมายถึง ไม้ร่มเงาจะเป็นอะไรก็ได้! จึงนิยมซื้อผักหวานปลูกแซมตามสวนไม้ผลหรือไม้ยืนต้นสารพัดชนิด

เมื่อไม่ประสบผลไม่พ้นก็พากันถอดใจ ซึ่งคุณธารตะวันบอกว่า ตนเองก็เคยมีความคิดความเชื่อเช่นนั้น ปลูกผักหวานป่าในพื้นที่ขนาด 2 ไร่ มีไม้ยืนต้นเป็นไม้พี่เลี้ยงนับ 10 ชนิด ปรากฏว่าเก็บผลผลิตได้แค่ 20-30 กิโลกรัม/รอบ ต่างจากสวนที่ใช้มะขามเทศเป็นไม้พี่เลี้ยง ได้ผลผลิต 100 กิโลกรัม/ไร่ จึงได้ข้อสรุปว่า ปลูกผักหวานป่าห้ามขาดมะขามเทศเด็ดขาด

มะขามเทศไม้พี่เลี้ยงที่ต้องปลูก
จุดเด่นของมะขามเทศคือมีรากปมช่วยกักเก็บไนโตรเจนให้ต้นผักหวานป่าดึงมาใช้ได้ และรากของต้นมะขามเทศยังไปได้ไกลมากครอบคลุมพื้นที่สวน นอกจากนี้ใบที่ร่วงหล่นก็ยังเป็นปุ๋ยอย่างดี ที่สำคัญยังเป็นพืชลุยแล้งเช่นเดียวกับผักหวานป่า ส่วนไม้พี่เลี้ยงอื่น ๆ รองลงมาที่แนะนำคือต้นตะขบที่โตเร็วให้ร่มเร็ว 6-7 เดือนได้ร่มเงาแล้ว และอยู่ได้นาน 3-4 ปี อีกชนิดคือต้นแคและชะอมที่หาได้ง่ายกว่า

การปลูกไม้พี่เลี้ยง สามารถปลูกไปพร้อมกับการปลูกผักหวานป่าได้เลย หากเป็นมะขามเทศเว้นระยะห่างระหว่างต้นเผื่อเอาไว้ 5-6 เมตร ระหว่างช่องว่างก็จะปลูกผักหวานป่าลงไป ระยะห่างของผักหวานป่าที่แนะนำคือ 1.2 เมตร ไม่เกิน 1.5 เมตร จะได้ทรงพุ่มที่สวยพร้อมกับปลูกต้นแคลงไป เว้นระยะระหว่างต้นแค 2 เมตร และเว้นระยะห่างระหว่างต้นผักหวานป่ากับต้นแค 1 เมตร หรือปลูกต้นแคแซมต้นผักหวานทุก ๆ 2 ต้น เมื่อพ้นปีแรกให้ทยอยตัดต้นแคออกเพราะต้นผักหวานป่าเริ่มตั้งตัวและต้องการแสงมากขึ้น

ปีแรกต้นยังเล็กอย่าเพิ่งท้อ
การขยายพันธุ์ส่วนใหญ่ของผักหวานป่านิยมใช้เมล็ด เพราะมีรากแก้ว โดยเมล็ดจะเก็บได้จากผักหวานที่มีดอกเพศเมียเท่านั้น และเป็นต้นที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติไม่ได้เก็บยอดมาจำหน่าย ต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าผักหวานป่าที่ปลูกเก็บยอดอย่างเห็นได้ชัด สนนราคาเมล็ดสดยังไม่ลอกเปลือกอยู่ที่ 200-300 บาท/กิโลกรัม เมล็ดพร้อมปลูก เมล็ดละ 3 บาท ส่วนอีกวิธีที่กำลังนิยมคือการใช้กิ่งตอนที่จะย่นระเวลาน้อยกว่าในการให้ผลผลิตเหลือเพียง 1 ปี (3-4 เดือนจะเริ่มแตกยอดแต่ห้ามเก็บเพราะต้นจะโทรมเร็ว) แต่ต้นจะค่อนข้างอ่อนแอเพราะไม่มีรากแก้ว และควรปลูกในแปลงที่มีไม้ร่มเงาเตรียมพร้อมเอาไว้แล้ว และมีงบประมาณพอสมควรเพราะต้นทุนกิ่งตอนราคาค่อนข้างสูง ราคา 150-250 บาท/กิ่ง นอกจากนี้พื้นที่ควรราดเอียงหรือมีการระบายน้ำได้ดี

ยิ่งแล้ง ยิ่งแตกยอด สร้างเงินไม่ได้หยุด
ผักหวานป่าที่ปลูกในแถบอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ส่วนใหญ่เป็นผักหวานป่าพันธุ์ยอดเหลือง ยอดอ่อนมีความนิ่ม รับประทานได้ทั้งก้าน มีทั้งประเภทที่ใบใหญ่ปลายกลมมนยอดอวบหนา และใบใหญ่ปลายแหลม ซึ่งจากประสบการณ์คุณธารตะวันบอกว่า ประเภทหลังแตกยอดได้ดีกว่า สมมุติว่าใบใหญ่ปลายแหลมเก็บได้สัก 100 ยอด ผักหวานป่าที่มีใบใหญ่ปลายมนอาจเก็บได้เพียง 70 ยอด โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะทิ้งยอดและแก่เร็ว

ผักหวานป่าพันธุ์ยอดเหลืองทั้ง 2 ประเภท เริ่มแตกยอดให้เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีครึ่ง และให้ผลเต็มที่เมื่ออายุได้ 2 ปีขึ้นไป ยอดที่เก็บจะมีทั้งหมด 3 ประเภท ผักฮ่องเต้ เป็นยอดอ่อนที่อายุน้อยที่สุด ความยาวไม่เกิน 4 เซนติเมตร เก็บได้ทุก ๆ 4 วัน นิยมรับประทานและมีราคาสูงที่สุด ไม่ต่ำกว่า 150 บาท/กิโลกรัม ผักฝอย ผักยอดแก่กว่าผักฮ่องเต้ ความยาวประมาณ 6 เซนติเมตร เก็บได้ทุก ๆ 5-6 วัน ราคาส่ง 100-130 บาท/กิโลกรัม ผักกำ เป็นยอดผักที่ค่อนข้างแก่ ใบใหญ่ นิยมนำมาจัดเป็นกำจำหน่าย 60-80 บาท/กิโลกรัม โดยในพื้นที่จะมีพ่อค้าแม่ค้าตระเวนเข้ามารับซื้อทุกวัน

ปลูกคู่งานประจำฟันรายได้ 2 เท่า
คุณธารตะวันฝากถึงผู้สนใจว่า สิ่งสำคัญคือต้องมีใจรักและมีความอดทน พยายามหาองค์ความรู้เกี่ยวกับผักหวานป่ามาให้มากที่สุด ไม่อย่างนั้นจะเสียทั้งเวลา เสียเงิน และเสียโอกาส

“พื้นที่แบบไหนก็ปลูกได้ อยู่ที่ใจสู้หรือเปล่า ถ้าสภาพดินไม่ดีก็ปลูกปอเทืองเพื่อปรับปรุงดินก่อนสักครอป หากพื้นที่น้อยก็ค่อยทำค่อยศึกษา เพราะตัวพี่เองก็เริ่มต้นจากพื้นที่เพียง 1 งาน ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 10 ไร่ เพราะเป็นพืชที่ดูแลง่าย ปลูกทิ้งขว้างได้ เพราะทำงานประจำควบคู่กันไปด้วย ผลคือมีรายได้ 2 เท่าจาก 2 ทาง ช่วยสร้างฝันในชีวิตของเราได้มากมาย”

ขอบคุณเจ้าของบทวาม

Facebook Comments Box
สวัสดี