เกษตรน่ารู้

เกษตรกรรุ่นใหม่ ทำสวนผสม ปลูกพืชหลายชนิด สร้างรายได้ทุกวัน

เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่อีกคนที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล และถือว่าประสบความสำเร็จในอาชีพเพียงระยะเวลาไม่กี่ปี คุณกิตตินันท์ นุ้ยเด็น บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ซึ่งตั้งแต่เรียนจบมาเมื่อปี 2549 ยึดอาชีพเกษตรกรรมมาโดยตลอด เริ่มเมื่อปี 2549 จนถึงปัจจุบัน มีแปลงเกษตรทั้งหมด 60 ไร่ ปลูกพืชหลายชนิด แต่ที่ทำเป็นหลักคือ มะละกอฮอลแลนด์ มะละกอแขกดำ กล้วยไข่ และกล้วยหอมทอง

หนุ่มวัย 35 ปี รายนี้ เป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่ในโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเป็นเจ้าของไร่ “อ.การเกษตร.” อยู่ที่ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

ซึ่งเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากสวนยางพาราที่มีอายุกว่า 30 ปี มาปลูกปาล์มน้ำมัน และพืชผักผลไม้แทน เพราะมองว่าทำเงินได้ดีกว่า อีกส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุราคายางตกต่ำ

วันนี้เขามีรายได้เฉลี่ย เดือนละ 30,000-50,000 บาท โดยไม่ต้องไปเป็นมนุษย์เงินเดือน มีความสุขอยู่กับเรือกสวน ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ และใช้เวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ตและแหล่งต่างๆ พร้อมทั้งสอบถามผู้รู้

คุณกิตตินันท์ เล่าว่า ในพื้นที่ 60 ไร่ แบ่งเป็น 2 แปลง แปลงแรกอยู่ที่บ้านค่ายรวมมิตร ตำบลท่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล มีเนื้อที่ 44 ไร่ ซึ่งเป็นแปลงหลัก โดยแบ่งปลูกพืชหลายชนิด อาทิ ปาล์มน้ำมัน 200 ต้น มะละกอ 400 ต้น กล้วยไข่ 2,000 ต้น กล้วยหอมทองอีก 200 ต้น มะนาว ตะไคร้ ข่า พืชผักสวนครัว

ส่วนแปลงที่ 2 อยู่ที่บ้านค่ายรวมมิตรเช่นกัน มีเนื้อที่ 20 ไร่ แปลงนี้มีพืชหลายชนิดผสมผสาน เช่น ปาล์มน้ำมัน 100 ต้น มะละกอฮอลแลนด์ 200 ต้น กล้วยไข่ มังคุด ทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม และอื่นๆ โดยมะละกอให้ผลผลิตไปแล้ว 3 รุ่น ส่วนกล้วย กำลังเริ่มให้ผลผลิต แต่ยังไม่เต็มที่ คาดว่าอีก 3-4 เดือน จะให้ผลผลิตเต็มที่

สาเหตุที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะทางคุณกิตตินันท์มองว่า ยังคงเป็นพืชที่มีอนาคตในด้านราคา อีกทั้งมีโรงงานรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ โดยตั้งใจให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชหลักของสวน

ส่วนช่วงแรกที่ปาล์มน้ำมันยังไม่ให้ผลผลิตก็ปลูกมะละกอฮอลแลนด์และกล้วยหอมทองแซมลงไปก่อน เพื่อใช้พื้นที่ให้เต็มศักยภาพ อีกทั้งการปลูกพืชหลากหลายชนิดทั้งไม้ผลและพืชผักสวนครัว ทำให้ทางไร่มีรายได้ทุกวัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไม จึงเลือกปลูกมะละกอและกล้วย เจ้าตัวให้เหตุผลว่า เนื่องจากให้ผลผลิตเร็ว ราคาไม่ผันผวนมากเกินไป บริโภคได้ทุกเพศทุกวัย เป็นอาหารสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไป เป็นพืชที่ดูแลง่าย

และสามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งการปลูกกล้วยให้ได้คุณภาพ ทางสวนยึดหลักการการทำเกษตร 4 ดี คือ ดินดี ดินเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต ดังนั้น ต้องทราบว่าดินต้องการอะไร ขาดอะไร ควรเติมอะไร

น้ำดี เมื่อมีดินที่ดีแล้ว น้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญ หากขาดน้ำจะทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ และในส่วนพันธุ์ดี ทางสวนมีการคัดเลือกพันธุ์ ที่มีคุณภาพ จากแหล่งที่เชื่อถือได้ อย่างเช่น ซื้อพันธุ์กล้วยไข่จากจังหวัดกำแพงเพชร รวมถึงการจัดการที่ดี มีการจัดแปลงปลูกให้เหมาะสม มีตารางการปฏิบัติงาน

ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีน้ำตลอดแม้ในช่วงหน้าแล้ง ทางไร่จึงได้ขุดสระน้ำขนาดย่อมและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเดินท่อวางระบบไว้เต็มพื้นที่ 44 ไร่

ที่ผ่านมาเขาลงทุนในการปลูกมะละกอไปประมาณ 80,000 บาท ตอนนี้สามารถเก็บผลได้คืนทุนหมดแล้ว ส่วนกล้วยลงทุนไป ประมาณ 100,000 บาท ต้องรอสักพักเนื่องจากผลผลิตเพิ่งเริ่มออกใหม่ๆ

คุณกิตตินันท์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกกล้วยกับมะละกอว่า เน้นการให้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยเคมีบ้างในขั้นตอนเร่งดอกและผล ไม่ใช้สารเคมีหากไม่มีความจำเป็น ในส่วนของมะละกอ มีปัญหามากกว่าการปลูกกล้วย

เนื่องจากมะละกอ อ่อนไหวง่ายกับสภาพภูมิอากาศ ต้องการน้ำสม่ำเสมอ แต่ไม่ชอบแฉะ ต้องการแสงมาก จึงต้องระวังมากในช่วงฤดูฝน เพราะจะมีเชื้อรา ไวรัส รากเน่าหากฝนตกมากๆ ฝนมาต้องป้องกัน ฝนหยุดก็ต้องป้องกันเช่นกัน

หากในระยะแรกโรคระบาดไม่หนัก กำจัดโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา และเชื้อราบิวเวอเรีย แต่ถ้าเป็นหนักมากจำเป็นต้องใช้สารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

สำหรับการปลูกมะละกอให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพนั้น ช่วงแรกของการปลูก ทางสวนใช้สูตรบำรุง ใช้ปุ๋ย 15-5-20 ใช้ 15 วัน ต่อครั้ง สลับกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มูลสัตว์ 2 เดือนครั้ง เป็นพวกขี้ไก่ผสมกับแกลบ พอหลังจากต้นติดดอกติดลูก แล้วก็ฉีดพ่นและให้สารอาหารพวกแคลเซียม โบรอน

ส่วนการปลูกกล้วยไข่นั้น ซื้อพันธุ์มาจากจังหวัดกำแพงเพชร ช่วงเริ่มแรกบำรุงด้วยสูตร 15-15-15 สลับกับปุ๋ยอินทรีย์ พอช่วง 1-6 เดือน หลังจากกล้วยออกปลี ใช้สูตร 15-5-20 สลับกับปุ๋ยอินทรีย์ เป็นการใช้ปุ๋ยจำนวนน้อยแต่บ่อยครั้ง

จะทำให้ได้กล้วยลูกใหญ่มีคุณภาพ ขายได้กิโลกรัมละ 15-20 บาท ซึ่งกล้วยไข่ปลูกง่าย ใช้ระยะเวลาออกลูกและเก็บเกี่ยวเร็วกว่ากล้วยอื่น พอออกปลีได้ 45 วัน หลังจากนั้นก็สามารถตัดเครือได้แล้ว ขณะที่กล้วยหอมเมื่อออกปลีต้องใช้เวลา60-80 วัน ถึงจะตัดเครือได้

คุณกิตตินันท์ อธิบายว่า ในการปลูกกล้วยหอมก็ต้องบำรุงในลักษณะเดียวกัน ซึ่งรวมถึงการตัดแต่งใบและหน่อด้วย โดยต้องแต่งใบก่อนจะใส่ปุ๋ย หมายถึง ตัดใบที่เป็นโรคออก เช่น ใบเหลืองเป็นจุด ให้เหลือ 7 ใบ ส่วนหน่อให้ปาดเหลือหน่อเดียว เลือกเฉพาะหน่อสมบูรณ์ไว้หน่อเดียว พอหลังจากกล้วยแก่แล้วปล่อยให้เหลืออีกหน่อ รวมเป็น 2 หน่อ

เกษตรกรหนุ่มรายนี้ระบุว่า กล้วยให้ผลผลิตเร็ว เก็บครั้งละไม่น้อยกว่า 30-100 กิโลกรัม ปลูกและดูแลง่าย ขณะที่มะละกอฮอลแลนด์ราคาดี กิโลกรัมละ 20-30 บาท เก็บครั้งละไม่น้อยกว่า 50กิโลกรัม โดยออกมาแล้ว 3 รุ่น ช่วงแรกมะละกอออกเยอะมาก สร้างรายได้ต่อวัน ประมาณ 1,500 บาท แต่ตอนนี้ผลผลิตเริ่มน้อยลงแล้ว

เขาระบุถึงหลักสำคัญในการทำการเกษตรว่า ขึ้นอยู่กับดิน น้ำ และการบริหารจัดการ หากดินดีจะปลูกอะไรก็งอกงาม และน้ำไม่ขาดก็จะยิ่งดี นอกจากนี้ ต้องรู้จักเรียนรู้การบริหารจัดการไร่และพืชสวนทางการเกษตรของตนเอง

ในการปลูกพืชผักแบบสวนผสม โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และต้องดูแลให้ดี เช่น ต้องมีการกำจัดวัชพืชสม่ำเสมอ ให้ปุ๋ยตามปฏิทิน มีการจดบันทึก รวมถึงการตัดแต่งหน่อแต่งใบอย่างสม่ำเสมอ

“ไร่เรามีจุดเด่นหลายอย่าง ประการแรกทางสวนมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพผลผลิตเป็นหลัก และปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงเป็นที่ยอมรับของคู่ค้าและผู้บริโภค อีกอย่าง ไร่อยู่ติดถนนใหญ่ สตูล-หาดใหญ่ เห็นชัดเจนเมื่อนั่งรถผ่าน

การขนส่งสะดวก เรื่องการตลาดก็ไม่มีปัญหา สามารถระบายผลผลิตได้ตลอดเวลา ราคาไม่ผันผวนมากนัก ว่าไปแล้วผลผลิตของสวนก็ยังไม่พอส่งตลาด ตอนนี้ส่งขายในตลาดพื้นที่จังหวัดสตูลและตลาดในชายแดนเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ผมมองว่าแนวโน้มการจำหน่ายจะดีขึ้นเรื่อยๆ”

คุณกิตตินันท์ ยังบอกด้วยว่า แผนการดำเนินงานของสวน จะขยายพื้นที่ โดยจะปลูกพืชผลไม้ให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้กำลังทดลองปลูกเสาวรส และจะทำเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรผู้สนใจต่อไป

ในฐานะเกษตรกรรุ่นใหม่ เขามองว่าปัญหาการทำการเกษตรในบ้านเรา โดยเฉพาะภาคใต้นั้นมีหลายอย่าง อาทิ ขาดปัจจัยการลงทุน ขาดความรู้ทางวิชาการ ต้องศึกษาพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภูมิอากาศในภาคใต้ ซึ่งบางช่วงฝนมากเกินไป พอหน้าแล้งก็ขาดน้ำ

ปัจจุบัน ไร่ อ.การเกษตร. ใช่จะปลูกพืชผักผลไม้ที่มีคุณภาพปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ผู้คนได้มาศึกษาวิธีการทำเกษตรแบบมืออาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย

โดยสวนดังกล่าวได้รับการสนับสนุนและแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจาก อาจารย์อาดินัน นุ้ยเด็น วัย 64 ปี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งมะปรัง จังหวัดสตูล ผู้เป็นคุณพ่อของคุณกิตตินันท์ ซึ่งนอกจากจะมีคุณกิตตินันท์ดูแลไร่ดังกล่าวแล้ว ยังมีหลานๆ อาจารย์อาดินันอีก 3 คน มาช่วยด้วย ทั้ง คุณอดิสร ปะดุกา คุณอภิชาติ หวันตาหา และ คุณอิสมาแอล หวันตาหา

อาจารย์อาดินัน กล่าวว่า เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จต้องกล้าคิด กล้าตัดสินใจ เมื่อยางพาราหมดอายุ ต้องตัดสินใจให้ได้ว่าควรเปลี่ยนเป็นพืชอะไร ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพดิน และการบริหารจัดการ รวมถึงการนำผลผลิตขายออกสู่ตลาด ต้องหาตลาดรองรับให้ได้

วันนี้ความสำเร็จของ ไร่ อ.การเกษตร. นับเป็นแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบที่ทำให้เกษตรกรหน้าใหม่เดินหน้าในอาชีพเกษตรกรรมอย่างภาคภูมิใจ พร้อมมุ่งหวังที่จะสร้างฐานะความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างมีความสุข

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์

Facebook Comments Box
สวัสดี