อาชีพเกษตรกรไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด
บุญล้อม เต้าแก้ว เป็นเกษตรกร เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบพื้นที่ทำการเกษตร การจัดการน้ำ การทำน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง และทุกเรื่องเกี่ยวกับการดูแลรักษาพืชผักผลไม้ สมุนไพร และปศุสัตว์ ที่เกษตรกรพึงมี
การปลูกพืช 5 ระดับ สูง กลาง เตี้ย เลื้อยเรี่ยดิน และหัวใต้ดิน รวมกันเป็น หลุมพอเพียง
ปลูกไม้สูง 4 มุม เช่น ตะเคียน ยางนา มะค่า มะฮอกกานี กระถิน ตามด้วยปลูกไม้กลาง ได้แก่ ไม้ผลต่างๆ เช่น มะม่วง กระท้อน อยากกินอะไรก็ใส่เข้าไป
ไม้เตี้ยต้นที่มือเอื้อมหยิบถึง เช่น มะละกอ กล้วย มะนาว ไม้เลื้อยเรี่ยดิน เช่น ฟักทอง แตง แฟง พริก กะเพรา มะเขือ โหระพา และไม้หัวใต้ดิน เช่น ข่า ขิง
ผมไม่ได้เลือกปฏิบัติว่านี่คือเกษตรทฤษฎีเก่าหรือใหม่ สิ่งที่ผมทำคือการเกษตรแบบผสมผสาน

ผมถามเขาว่าคิดค่าแรงตัวเองเท่าไหร่ เขาก็ถามกลับมาว่า ทำไมต้องคิด ถ้าคิดก็ไม่เหลือเงินน่ะสิ ซึ่งผมยืนยันว่าต้องคิดต้นทุนของทุกอย่างเพื่อหาทางลดต้นทุนเหล่านั้น
เป็นเรื่องง่ายมากที่ใครจะเริ่มทำเกษตรแบบมักง่าย ซื้อปุ๋ยกระสอบมาหว่านแล้วนั่งหวังกับฟ้ากับฝนว่าจะได้ผลผลิตที่ดี ทั้งที่ก็ไม่กล้าใช้สมุนไพรขับไล่แมลงเพราะไม่โฆษณาว่าดี สู้ปุ๋ยที่มีเงินซื้อโฆษณามากกว่าไม่ได้
เวลาพูดเรื่องเกษตรอินทรีย์ทุกคนจะนึกถึงการปลูกพืชผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง มีข้อจำกัดมากมายเต็มไปหมด เกษตรกรจึงไม่ค่อยอยากทำ แต่ในความเข้าใจของเรา เกษตรอินทรีย์คือการปลูกไว้กิน ไว้แบ่งปันคนอื่น เมื่อนิยามคนละแบบวิธีการก็คนละแบบเลย เราจะคิดถึงความปลอดภัยและการปลอดสารกับทุกเรื่อง

จงลองผิดลองถูกกับพื้นที่จริง เพราะบางอย่างใช้กับบางพื้นที่ไม่ได้ผล
ต้องดูว่าคนในสังคมเขากินอะไรกัน เรื่องแบบนี้ต้องใช้ทักษะและความรู้รอบตัวเยอะแยะ เวลาไปลงพื้นที่ที่ไหนผมจะใช้เวลาช่วงเช้าเดินตลาดเช้า ดูว่าเขาขายอะไร กินอะไร เรื่องนี้สำคัญนะ

คนโบราณบอกว่าให้ปลูกพืชข้างขึ้น ไม่ใช่แค่ชื่อเป็นมงคล แต่เป็นเพราะการปลูกข้างขึ้นแสงของพระจันทร์เต็มดวงจะส่องลงมากระทบดินทำให้ดินอุ่น มีอุณหภูมิที่พืชจะงอกงาม พอใบเริ่มแตกก็เข้าสู่ข้างแรมพอดี แมลงที่มากินใบจะมองไม่เห็น
อย่ายึดติดกับสิ่งต่างๆ นั่นคือให้มองภาพรวมดีกว่ายึดติดในผลที่เป็นรูปธรรม เช่นมาทำเกษตรก็อย่ายึดติดว่าทำแล้วต้องรวย
“ทุกครั้งที่ถามเกษตรกรว่าปลูกข้าว 10 ไร่ เหลือเงินเท่าไหร่ เขาจะบอกว่า ประมาณ 20,000 เงินที่เหลือหมดไปกับปุ๋ย ยา พันธุ์ข้าว และอื่นๆ ผมก็ถามเขาว่าคิดค่าแรงตัวเองเท่าไหร่ เขาก็ถามกลับมาว่า ทำไมต้องคิด ถ้าคิดก็ไม่เหลือเงินน่ะสิ ซึ่งผมยืนยันว่าต้องคิดต้นทุนของทุกอย่างเพื่อหาทางลดต้นทุนเหล่านั้น”

บุญล้อมเล่าว่า แนวทางลดต้นทุนทั้งหมดนั้นรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้แล้ว ลดต้นทุนด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก สมุนไพรขับไล่แมลง รวมถึงความรู้ที่มีปราชญ์ชาวบ้านรวบรวมไว้มากมายและทำได้จริง
เป็นเรื่องง่ายมากที่ใครจะเริ่มทำเกษตรแบบมักง่าย ซื้อปุ๋ยกระสอบมาหว่านแล้วนั่งหวังกับฟ้ากับฝนว่าจะได้ผลผลิตที่ดี ทั้งที่ก็ไม่กล้าใช้สมุนไพรขับไล่แมลงเพราะไม่โฆษณาว่าดี สู้ปุ๋ยที่มีเงินซื้อโฆษณามากกว่าไม่ได้
“ก็มีคนมาเสนอขายปุ๋ยถึงที่นี่เหมือนกันนะ ยาฆ่าแมลงก็เยอะ” บุญล้อมเล่า
“แล้วคุณตอบกลับเขาไปว่าอย่างไร” เราถาม
“ผมก็บอกว่าไปใส่ให้ดูหน่อย แล้วมาดูแลให้หน่อยนะ ถ้าออกผลผลิตดีเดี๋ยวจะลองซื้อ แต่ก็ไม่เห็นใครมาลองให้ดูนะ จะว่าไปก็โทษไม่ได้หรอก เขาเป็นคนขาย มีหน้าที่ขาย ขายเสร็จได้เงินก็ปัดตูดออกไป” บุญล้อมรีบตอบ
ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องความยั่งยืนในธุรกิจ ทั้งยังเคยชินกับการหารายได้มากกว่าลดต้นทุน เพราะเชื่อในประสิทธิภาพและกลไกราคาที่ตลาดคัดสรร นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ยินการนิยามเกษตรอินทรีย์ด้วยเหตุและผลทางต้นทุน ทั้งยังเห็นด้วยว่ามีวิธีการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้มากมายให้เกษตรกรเลือกทำ เพื่อที่จะไม่ติดอยู่ในกับดักความจนอย่างที่เป็นมา

“เวลาพูดเรื่องเกษตรอินทรีย์ทุกคนจะนึกถึงการปลูกพืชผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง มีข้อจำกัดมากมายเต็มไปหมด เกษตรกรจึงไม่ค่อยอยากทำ แต่ในความเข้าใจของเรา เกษตรอินทรีย์คือการปลูกไว้กิน ไว้แบ่งปันคนอื่น เมื่อนิยามคนละแบบวิธีการก็คนละแบบเลย เราจะคิดถึงความปลอดภัยและการปลอดสารกับทุกเรื่อง ซึ่งหากเอาตัวเลขผลกำไรจากผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์มาเป็นแรงจูงใจให้ทำเกษตรอินทรีย์ เมื่อไม่เป็นตามที่คาดหวังเกษตรกรก็รู้สึกล้มเหลว” บุญล้อมอธิบาย
เขาเสริมว่า ที่มาของชุดความคิดนี้มาจากการปฏิบัติจริงในบ้านของเขา ซึ่งตอนแรกอาจจะเริ่มจากไม่มีเงิน แต่แทนที่จะหาแต่รายได้เขาต้องรู้จักการลดรายจ่าย มีวิธีการและองค์ความรู้มากมายเพียงเลือกใช้ให้เหมาะสมกับภูมิศาสตร์และสังคมของตัวเอง
ขอยกตัวอย่างในพื้นที่แปลงผักที่บุญล้อมเล่าว่าเขาไม่มีเงินซื้อผ้ามาคลุม จึงเลือกปลูกกล้วยให้ใบโตพรางแสง
เขาบอกว่า ปลูกกล้วยได้ทั้งเครือ ได้ทั้งหน่อ ก้านกล้วยก็ใช้เป็นที่ค้ำผักให้เครือของบวบ ถั่ว และตำลึง พันก้านขึ้นไป ปกติเกษตรกรนิยมใช้ตาข่ายหรือไม้ล้อมซึ่งใช้ได้หนเดียวก็ต้องทิ้ง แต่ก้านกล้วยที่หมดอายุขัย เมื่อวางลงไปในดิน ราดด้วยน้ำหมักเข้มข้น กลบด้วยดิน ทิ้งไว้ 2 สัปดาห์แล้วสับให้กลายเป็นปุ๋ย ก้านเหล่านั้นจะย่อยสลาย ดินก็ได้ธาตุอาหารเพิ่มขึ้น ไม่ต้องย้ายที่ปลูกเพราะเรารู้จักปรุงดินให้ดี
เขาเล่าว่า รูปแบบของการเลี้ยงไก่แบบทั่วไปให้อาหารแห้ง ไก่ 1 ตัว กินอาหาร 1 ขีด ต่อตัวต่อวัน ถ้าอาหาร 2 บาท ไข่ออกมา 3 บาท ยังไงก็เจ๊ง ขณะที่เกษตรอินทรีย์ ไก่ 10 ตัว จะไข่เพียง 5 ฟอง แต่จะขายไข่ในราคาสูงกว่าทั่วไป

แต่ถ้าเป็นระบบลดต้นทุนด้วยการให้อาหารข้น คือใช้อาหารแห้งผสมน้ำหมัก ไก่ 10 ตัว ได้ไข่ 9 ฟอง ซึ่งใครสะดวกเลี้ยงแบบไหนก็ได้ เพียงแต่เขาไม่สนับสนุนการเลี้ยงแบบกรงตับซึ่งเลี้ยงไก่อย่างแออัด ให้ไก่กินน้ำ กินอาหาร และรอเก็บไข่ วนเวียนแค่นั้น ไก่จะเครียดเกินไป ส่งผลต่อไข่ที่ออกมาและส่งผลต่อสุขภาพร่างกายเราหากกินไข่เครียดเหล่านั้น
ใช้ธรรมชาติบำบัด : มีภูมิคุ้มกันในตัวเองและสร้างภูมิคุ้มกันในคนอื่น
กว่า 7 ปีที่ทำงานในโครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและเชฟรอนประเทศไทย ในการผนึกกำลังร่วมกันแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้บุญล้อมได้พบเจอปราชญ์ชาวบ้านและผู้คนหลากหลายวัย และความสนใจที่เขายกให้เป็นครู เกิดเป็นองค์ความรู้เฉพาะตัวที่เขาตกผลึกและเผยแพร่แก่คนที่ต้องการจริงๆ ผ่านการลงมือทำ เลือกพิสูจน์มากกว่าจะปักใจเชื่อเพียงแค่เขาบอกมา
บุญล้อมจะศึกษาและทดลองหาความจริงว่าสิ่งที่ได้ยินมาใช้กับพื้นที่ของเขาได้หรือไม่ เกิดการเรียนรู้และทำซ้ำๆ เมื่อเกิดประโยชน์ก็บอกต่อ
เขาเล่าวิธีการจัดการองค์ความรู้ที่มาจากหลายทิศหลายทางให้ฟังว่า จงลองผิดลองถูกกับพื้นที่จริง เพราะบางอย่างใช้กับบางพื้นที่ไม่ได้ผล เช่นน้ำหมักบางชนิดใช้กับพื้นที่ภาคอีสานดี แต่ใช้กับภาคกลางไม่ได้ผล ก่อนหาคำตอบว่าทำไมไม่ได้ผล บุญล้อมก็พบว่าเป็นเรื่องของดิน น้ำ อากาศ แสงแดด
“ผมเชื่อเรื่องการทดลองปฏิบัติ ยิ่งไม่ได้ผลยิ่งต้องหาสาเหตุให้พบ หลายครั้งที่การส่งเสริมเกษตรจากส่วนกลางนั้นดี แต่ไม่ได้ดีกับทุกคน เช่น เกษตรกรชาวสระบุรีไปดูงานภาคอีสาน พบว่าเลี้ยงจิ้งหรีดขายได้ตัวละบาท กลับมาก็ลงทุนทำโรงเรือนทันที พอขายก็ขายไม่ได้เพราะคนภาคกลางไม่นิยมกินจิ้งหรีด เช่นกัน การจะส่งเสริมให้ปลูกผักอะไรก็ต้องดูว่าคนในสังคมเขากินอะไรกัน เรื่องแบบนี้ต้องใช้ทักษะและความรู้รอบตัวเยอะแยะ เวลาไปลงพื้นที่ที่ไหนผมจะใช้เวลาช่วงเช้าเดินตลาดเช้า ดูว่าเขาขายอะไร กินอะไร เรื่องนี้สำคัญนะ” บุญล้อมเล่า

“อะไรคือวิธีที่คุณใช้ขอความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน” เราถาม
“ใช้วิธีนั่งคุยกับพวกเขา ใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่มีถามเรื่องที่สงสัย
“คนโบราณบอกว่าให้ปลูกพืชข้างขึ้น ไม่ใช่แค่ชื่อเป็นมงคล แต่เป็นเพราะการปลูกข้างขึ้นแสงของพระจันทร์เต็มดวงจะส่องลงมากระทบดินทำให้ดินอุ่น มีอุณหภูมิที่พืชจะงอกงาม พอใบเริ่มแตกก็เข้าสู่ข้างแรมพอดี แมลงที่มากินใบจะมองไม่เห็น เป็นภูมิปัญญาที่เขาถือกันมาตลอด เมื่อจับมาเจอกับภูมิปัญญาสมัยนี้ ใช้วิธีห่มดินด้วยเศษฟางรักษาอุณหภูมิพืชก็งอกงาม หรืออีกตัวอย่างที่เขาบอกว่าห้ามฉี่รดจอมปลวก เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ของน้ำบริสุทธิ์ เป็นจุดที่น้ำจืด ไม่กร่อย ไม่กระด้าง มีความเป็นกรดด่างพอดี” คำตอบของบุญล้อมมักจะกลับมาที่เรื่องการทดลองและหาความรู้อยู่เสมอ
ผิดเป็นครู : งานของครูผู้ชอบทำโดยชอบธรรม
นอกจากเป็นเกษตรกร งานของบุญล้อมที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียงชุมชน สวนล้อมศรีรินทร์ ตำบลหนองโน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี คือผู้ดูแลและปรับปรุงไม่ให้สวนของเขาต้องอยู่นิ่ง
“ที่ผมได้เป็นครูเพราะผมเรียนรู้จากการทำผิดมามากพอ เมื่อเจอกับเรื่องที่ไม่รู้ก็อยากหาคำตอบ เริ่มจากคิดว่าใครน่าจะให้คำตอบเราได้ ซึ่งเราจะไม่คิดถึงคนคนนั้นคนเดียว ผมใช้ครูเปลืองมาก 4 – 5 คน จนกว่าจะได้คำตอบที่ตกผลึกเพื่อเผยแพร่ต่อไป
“สำหรับศูนย์เรียนรู้ เพราะเราอยากให้คนที่กลับมาเรียนรู้ซ้ำได้บทเรียนใหม่ๆ กลับไป นอกจากออกแบบชุดขององค์ความรู้ เราชอบศึกษาความรู้จากที่อื่นๆ เพื่อเพิ่มพูนให้พื้นที่ของเรา” คิวเรเตอร์และครูประจำชั้นศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เล่าถึงงานที่ทำ
“จากคนที่ทำเกษตรไม่เป็นเลยในวันแรก มาวันหนึ่งกลายเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ทุกคนให้การยอมรับ ทำให้คุณต้องเปลี่ยนตัวเองอย่างไรบ้าง” เราถาม
“ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนพูดไม่เก่งเลย จำได้ว่าชอบเล่นกีฬามาก ชีวิตอยู่กับกีฬา ให้นำเสนอหน้าห้องนี่ไม่ได้เลย พอกลับมาช่วยงานคุณพ่อ ฟังพ่อบรรยายหน้าห้อง ตามท่านพาคนเดินชมพื้นที่จนซึมซับ รู้ว่าต้องพาชมอะไร ให้ความรู้เรื่องไหน เริ่มศึกษามากขึ้นเพื่อให้มีความรู้มาเล่ามากขึ้น จากนั้นจึงเริ่มบรรยายหน้าห้องได้บ้าง” บุญล้อมเล่า
เขายังจำห้องเรียนแรกที่สอนได้ดี นักเรียนกลุ่มแรกของเขาคือชาวบ้านแถวนั้น
“ตอนแรกกล้าๆ กลัวๆ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ สำหรับผมการบรรยายคือการเล่าประสบการณ์ชีวิตจริง เมื่อชาวบ้านเชื่อว่าเราเป็นเกษตรกรที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เขาก็จะเชื่อและตั้งใจฟังสิ่งที่ถ่ายทอด มากกว่าฟังนักวิชาการจากส่วนกลาง

“มีครั้งหนึ่งไปพูดให้ชาวบ้านที่อุบลราชธานีฟัง วันแรกมากัน 30 คน ตอนแรกไม่แน่ใจเพราะเราเตรียมมาพูดหลักบันได 9 ขั้น และ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข โดยเขียนเป็นแผนภาพด้วยตัวเองทั้งหมด เขียนให้เขาดู พูดให้เขาฟัง วันต่อมามากัน 60 คนเลย เขาไปชวนกันมาเพราะได้ความรู้ สอนเรื่องปุ๋ยหมัก น้ำซาวข้าว สมุนไพรไล่แมลง วันต่อมาทำแชมพู สบู่ ปุ๋ยหมักน้ำ
“ไม่ใช่ว่าเขาอยากได้ของที่ทำ แต่เขาอยากลงมือทำได้จริงๆ อย่างน้ำซาวข้าวแปลงมาทำจุลินทรีย์น้ำซาวข้าว ใช้ฉีดเร่งการเจริญเติบโตของพืช ใช้เทใส่ห้องส้วมแก้ปัญหาส้วมเต็ม หรือใส่มะกรูดแช่ทิ้งไว้ 1 เดือน นำไปขัดพื้นห้องน้ำแทนน้ำยาขัดห้องน้ำ ชาวบ้านตื่นเต้นกับเรื่องเหล่านี้มาก” บุญล้อมเล่าถึงชั้นเรียนที่เขาประทับใจ
“อะไรคือเรื่องที่คุณมักจะสอนหรือให้คำแนะนำแก่คนที่มาขอเสมอ” เราถาม
“อย่ายึดติดกับสิ่งต่างๆ นั่นคือให้มองภาพรวมดีกว่ายึดติดในผลที่เป็นรูปธรรม เช่นมาทำเกษตรก็อย่ายึดติดว่าทำแล้วต้องรวย” บุญล้อมตอบก่อนเสริมว่าเมื่อเรากินอาหารที่ปลูกเอง ไม่ได้ซื้อมา เราก็จะปลอดภัย ไม่ป่วย ไม่ต้องไปหาหมอ เขาพยายามชวนให้ผู้ที่สนใจมองเรื่องชีวิตประจำวันมากกว่าจะสอนวิธีทำเกษตรให้ร่ำรวยเงินทอง โดยมีหลักในการทำงาน 5 ข้อที่เขายึดถือเสมอ
มีความเพียร มีความอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก และไม่ทะเลาะกัน
“ขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ รอบนี้ทำไมปลูกมะเขือไม่ขึ้น อย่าไปโทษว่ามือร้อน แต่ให้ลองปลูกซ้ำๆ ต้องใช้ความเพียรพยายาม อดทนทำต่อ ไม่รีบไม่เร่ง ลงมือทำ อย่าพูดมาก ใครจะว่าอย่างไรอย่าไปทะเลาะกับเขา อาชีพเกษตรกรไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด อย่าลาออกมาทำ ไม่งั้นตายแน่”
บุญล้อมบอกว่า ความยากของการสอนคือความไม่รู้ว่าคนที่กำลังคุยอยู่รู้อะไรมาบ้าง มากหรือน้อย
“ผมจะเริ่มจากการเป็นคนไม่รู้ก่อนเสมอ ถามเขาก่อนโดยไม่แสดงตัวว่าเรามีความรู้เหนือเขา แต่จะคอยเสริมจุดที่ไม่รู้ ไม่ตั้งตนบอกสอนโดยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาเก่งกว่าเราเยอะ เพราะฉะนั้น จุดยืนเวลาทำงานทุกครั้งคือ ผมจะต้องคุมสถานการณ์นี้ของตัวเอง มองให้ออกว่าคนที่มาเขามองหาอะไร และอะไรคือเรื่องที่เราช่วยเสริมได้

“ตอนนี้เจอปัญหาว่าคนอยากทำเกษตร แต่ยังไม่เข้าใจว่าจะทำอย่างไร เราก็แนะนำให้ไปปูพื้นฐานที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องก่อน เพื่อเข้าใจเหตุและผลของรูปแบบการใช้ธรรมชาติทำการเกษตรผสมผสาน เพื่อที่จะไม่ต้องคอยตอบคำถามเดิมทุกครั้ง ทำไมต้องคำนวณพื้นที่ปลูกข้าวไว้กิน หรือทำไมต้องขุดหนองน้ำ ก็เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง ซึ่งหากทุกพื้นที่ช่วยกันเก็บน้ำ 100,000 ราย เราจะเก็บน้ำได้เท่ากับ 4 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทุกบ้านจะรอดเพราะมีกินมีใช้ตลอดปี กรุงเทพฯ อยู่รอด ไม่ต้องใช้งบประมาณทำเขื่อนให้เสียพื้นที่ป่าและค่าใช้จ่ายอื่นๆ”
“จากวันแรกจนถึงวันนี้ ตัวตนของคุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง” เราถาม
บุญล้อมนิ่งคิดก่อนจะตอบว่า จากคนที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องของคนอื่น ก็กลายเป็นคนอยากให้คนอื่น เปลี่ยนจากคนที่มุ่งแต่จะหาเงิน กลายเป็นคนที่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงคือการอยู่กับครอบครัวพร้อมหน้า ก่อนจะทิ้งท้ายความชื่นใจที่เขารู้สึกจากสิ่งที่ทำมาตลอดเวลา 7 ปี
“ความชื่นใจของเราคือการได้เป็นผู้ให้ ดีใจทุกครั้งที่รู้ว่าความเหนื่อยของเราสร้างความสุขให้คนอื่นได้ เราไม่ได้หวังจะรวยหรือมีผลกำไรจากสิ่งนี้ เราแค่อยากเห็นเขากลับมาอยู่บนพื้นที่ของตัวเอง อยู่กับครอบครัว มีความสุขเหมือนที่เราเป็นอยู่ ก็แค่นั้นเอง”
บุญล้อม เต้าแก้ว
โครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน‘