น่าอ่าน

“หมอลำเมืองอุบล” ทำไร่นาสวนผสม สร้างรายได้อย่างต่ำ 3-4 หมื่นบาท/เดือน

ศิลปินหมอลำเดินตามรอยในหลวง ร.๙ ทำเศรษฐกิจพอเพียงหารายได้ใช้เลี้ยงครอบครัวช่วงว่างจากงานแสดง เผยแต่ก่อนเงินไม่พอใช้ในครัวเรือน แต่หลังทำไร่นาสวนผสมรับเงินทุกวัน แต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาท

ผู้ที่เป็นทั้งเกษตรกร และศิลปินหมอลำเป็นอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวรายนี้ คือ นางอรุณรัตน์ จำปาเทพ อายุ 46 ปี หรือชื่อในการแสดงคือ “อรุณี พูลสว่าง” อยู่บ้านเจริญ ต.คันไร่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี เล่าว่า ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา และตัวเองได้ประกอบอาชีพแสดงหมอลำกลอนมาตั้งแต่อายุได้เพียง 15 ปี ที่ผ่านมาครอบครัวปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาโดยตลอด และพบว่าแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวเพิ่มขึ้น แทบไม่คุ้มกับที่ลงทุนทำนา

“คิดว่าในอดีตคนโบราณไม่ใช้สารเคมี ทำไมถึงปลูกข้าวได้เจริญงอกงาม สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลไปขายทำรายได้ ส่งลูกหลานเล่าเรียนหนังสือได้อย่างสบาย แต่ตนมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 10 ไร่ และมีรายได้จากการรับแสดงหมอลำกลอนตามงานบุญเดือนต่างๆ ตลอดทั้งปีมีช่วงได้ว่างเว้นเพียง 3-4 เดือน ยังมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว เพราะต้องส่งลูกเรียนหนังสือ” นางอรุณรัตน์กล่าว และบอกว่า

ตนจึงคิดปรับเปลี่ยนแนวคิดหันมาปลูกพืชผสมผสานตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงคิดค้นพระราชทานให้แก่ประชาชนได้เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท จึงเข้ารับการอบรมการทำเกษตรผสมผสานกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอสิรินธร และหน่วยงานอีกหลายแห่ง รวมทั้งไปศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงจากแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จ

โดยในปี 2547 ได้เริ่มปลูกพืชผสมผสานเป็นสวนยางพารา 6 ไร่ ปลูกข้าว 3 ไร่ ที่อยู่อาศัย คอกเลี้ยงสัตว์ และปลูกผักสวนครัวในเนื้อที่อีก 1 ไร่ หลังจากนั้นไม่นานนักก็เริ่มเห็นผลจากรายได้ที่หมุนเวียนเข้ามาในครัวเรือน และหลังปรับเปลี่ยนพื้นที่จากเกษตรที่เคยใช้สารเคมี มาเป็นเกษตรอินทรีย์ 100%

ต่อมาในปี 2558 ได้ทำเกษตรผสมผสานเต็มรูปแบบ คือ สวนยางพารายังคงเดิม 6 ไร่ ลดพื้นที่ปลูกข้าวลงมาเหลือ 2 งาน ทำนาบัว 2 งาน ปลูกไผ่เลี้ยง 1 งาน ปลูกพืชผักสวนครัว 1 งาน และปลูกกล้วย 1 ไร่ พื้นที่ที่เหลือใช้เลี้ยงเป็ดพันธุ์เนื้อ เลี้ยงไก่พื้นเมือง โคพันธุ์พื้นเมืองเกือบ 100 ตัว เลี้ยงปลาดุกในนาข้าวและนาบัว จำนวน 2,000 ตัว เลี้ยงกบอีก 300 ตัว/รอบ พร้อมขุดสระเก็บกักน้ำไว้ใช้ในไร่นา 1 บ่อ ทำให้แปลงเพาะปลูกของนางอรุณรัตน์ เกษตรกรหมอลำกลอน ไม่เคยขาดแคลนน้ำใช้ในการเพาะปลูก และมีรายได้จากการขายผลิตผลเข้ามาในครอบครัวเป็นรายวันเฉลี่ยเดือนหนึ่ง 30,000-40,000 บาท ทำให้เกิดความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของครอบครัว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ยังคงรับงานแสดงหมอลำกลอนในช่วงหน้างาน รวมทั้งยังใช้ชีวิตแบบประมาณตน ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไปตามรายได้ที่มีเข้ามามากในแต่ละเดือน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้เองในการดำรงชีวิตประจำวัน หมั่นปรับปรุงบำรุงดิน จนลดปริมาณแมลงศัตรูพืชในแปลงเพาะปลูก ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการขาดทุนจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของตนเองได้เป็นอย่างดี จนได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำเกษตรกรดีเด่น และให้แปลงเพาะปลูกของเกษตรกรหมอลำผู้นี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของตำบลคันไร่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี

รวมทั้งเกษตรกรรายนี้ยังมีวิธีทำเกษตรให้มีจิตใจเบิกบาน โดยระหว่างเข้าเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือเพาะปลูกลงแปลงใหม่ นางอรุณรัตน์มักจะร้องรำทำเพลงไปด้วย ซึ่งผลผลิตที่ปลูกและสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้จะรับรู้ด้วยหรือไม่ เธอไม่รู้ แต่แน่ๆ เธอมีความสุขมากระหว่างที่เข้าไปทำงานในไร่นาสวนผสม

สำหรับเกษตรกรหรือผู้ใฝ่รู้ต้องการเรียนรู้วิธีการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวไปเป็นเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงจนประสบความสำเร็จ ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-3735-3839, 08-6247-4322 เจ้าตัวยินดีให้คำแนะนำและเปิดให้เข้าเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

Facebook Comments Box
สวัสดี